ทำบุญบ้าน ต้องเตรียมตัวอย่างไร
ทำบุญบ้าน ตามประเพณีนิยมของพุทธศาสนิกชนคนไทย เมื่อเราสร้างบ้านใหม่แล้วเสร็จ หรือ ซื้อบ้านหลังใหม่ เราจะนิยมทำบุญบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนเข้าไปอยู่บ้านหลังใหม่ (แต่ยุคสมัยปัจจุบัน อาจจะเข้าอยู่ก่อนแล้วซักระยะค่อยทำบุญ) ในฐานะที่เราเป็นผู้รับจัดงาน บทความนี้ เราจะมาแนะนำการเตรียมตัวการทำบุญบุญบ้านของท่านเจ้าของมือใหม่กัน
เราจะแบ่งการเตรียมตัว เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเตรียมการ และ ช่วงวันงาน
ช่วงเตรียมการ
วันจัดงาน
อันดับแรกเลย ต้องหาวันจัดงานก่อน แต่ไม่ต้องกังวลมากเกี่ยวกับวันจัดงาน เพราะพระท่านบอกว่า “วันที่ดี ฤกษ์ที่ดี คือ ฤกษ์สะดวก” หมายความว่า เลือกวันที่ท่านเจ้าของบ้านสะดวกเลย อาจจะเป็นวันหยุดงานประจำสัปดาห์ วันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ก็ได้ทั้งนั้น ในยุคนี้จากประสบการณ์ที่เรารับจัดมา นิยม จัดงาน วันเสาร์-อาทิตย์ นานๆครั้งถึงจะมีวันธรรมดา จันทร์-ศุกร์
นิมนต์พระ
ถึงแม้จะบอกว่า ฤกษ์ที่ดี คือ ฤกษ์สะดวก ถึงเราจะสะดวก แต่ต้องถามพระท่านด้วยว่าสะดวกตามวันของเราหรือไม่ ดังนั้น ถ้าท่านเลือกวันทำบุญ เป็นเสาร์-อาทิตย์ ควรวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อยๆ 1 เดือน เพราะในเมื่อ ฤกษ์สะดวกของหลายๆบ้านคือ เสาร์-อาทิตย์ พระท่านจึงรับกิจนิมนต์ได้จำกัด แล้วยิ่งถ้าท่านทำบุญบ้านในช่วงเทศกาลการแต่งงาน ช่วงเดือน พฤศจิกายน- กุมภาพันธ์ ท่านอาจจะต้องวางแผนล่วงหน้า ถึง 2 เดือนเลยก็เป็นได้
แล้วจะไปนิมนต์พระวัดไหนดี จากประสบการณ์ของเรา วัดที่ดีคือวัดที่อยู่ใกล้บ้าน เพราะสะดวกในเรื่องของการเดินทาง ถ้าเจ้าของบ้านอาศักอยู่ระแวกนั้นอยู่แล้ว ก็แน่นอนก็จะมีความรู้จักมักคุ้นกับวัด กับพระ นั้นๆ
ส่วนข้อมูลที่เราต้องเตรียมไปมี อยู่ ดังนี้
- วันที่นิมนต์
- รูปแบบงาน ในที่นี้ คือทำบุญเลี้ยงพระขึ้นบ้านใหม่
- ช่วงเวลา เลี้ยงพระเช้า หรือ เพล
- จำนวนพระ 5 รูป 7 รูป 9 รูป ตามประเพณีนิยม คือ 9 รูป แต่ถ้าพื้นที่ในบ้านไม่สะดวกก็ 5 รูป
- เบอร์โทรผู้ติดต่อในวันมารับพระ
จากประสบการณ์ของเรา รูปแบบที่นิยม คือ นิมนต์พระ 9 รูป เลี้ยงเพล
เตรียมอุปกรณ์
การเตรียมอุปกรณ์จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อุปกรณ์พิธีสงฆ์ และอุปกรณ์ทำอาหารเลี้ยงแขก
อุปกรณ์พิธีสงฆ์
ในปัจจุบัน ท่านเจ้าของบ้านมีทางเลือกในการจัดงานเอง หรือ ว่าจ้างทีมงานรับจัดงานบุญให้มาดูแล ถ้าท่านเจ้าของบ้านจัดงานเอง อุปกรณ์พิธีสงฆ์ ก็สามารถไปยืมที่วัด ที่ท่านนิมนต์ได้เลย แล้วอุปกรณ์ที่จำเป็นมีอะไรบ้าง
- โต๊ะหมู่บูชา
- เสื่อปูรองพื้น
- อาสนะ
- ขันน้ำมนต์
- พระพุทธรูป
- กระโถน
- กระถางธูป
- เชิงเทียน
- แจกันดอกไม้
ส่วนของที่เจ้าบ้านต้องซื้อเตรียมไว้ มี ดอกไม้ ธูป เทียน กระดาษชำระ สายสิญจน์ น้ำดื่ม เป็นต้น
แต่ถ้าท่านเจ้าของบ้านใช้บริการรับจัดงาน เค้าก็จะมีอุปกรณ์ดังกล่าวให้ท่านทั้งหมด และไปเตรียมการให้ท่าน โดยที่ท่านเจ้าของบ้านไม่ต้องเตรียมอะไรเลย
อุปกรณ์ทำอาหารเลี้ยงแขก
ในกรณีที่ท่านเชิญแขกมาร่วมงานไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่ เพื่อนสนิท มิตรสหาย เพื่อนบ้าน ตามประเพณีนิยมก็จะเตรียมอาหารเลี้ยงแขกด้วย
โดยปกติแล้ว ในครอบครัวเรามักจะมีอุปกรณ์ จานชาม เพียงพอแค่สำหรับคนในครอบครัว แล้วถ้าต้องทำอาหารต้อนรับแขกต้องทำอย่างไร อย่างเพิ่งกังวลใจไป มีทางเลือกให้ท่ายเจ้าของบ้านอีกเช่นกัน คือ
ทำอาหารเอง หรือ จ้างบริการรับทำอาหาร
ถ้าทำอาหารเอง อุปกรณ์ จาน ชาม หม้อ เครื่องครัวต่างๆ ก็สามารถไปยืมที่วัดได้เช่นกัน แต่จะมีอุปกรณ์ จำพวก โต๊ะเต้นท์ สำหรับแขก ที่ทางวัดอาจจะไม่มี ต้องติดต่อหาเองในพื้นที่ของท่าน
หรือ ถ้าท่านจ้างบริการรับทำอาหาร ก็ปล่อยหน้าที่ให้ทีมงานเค้าดูแล ก็ได้เช่นกัน
แน่นอนว่า ถ้าจ้างเค้าทำให้ อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา แต่ก็แลกมากับความสะดวกสบาย ของท่านเจ้าของบ้านเช่นกัน
ช่วงวันงาน
โดยปกติ อุปกรณ์พิธีสงฆ์ต่างๆจะถูกเตรียมให้เรียบร้อยก่อนวันงาน ท่านเจ้าของบ้านที่ทำทุกอย่างเอง เมื่อใกล้ถึงเวลา ก็ต้องจัดเตรียม รถ ไปรับพระที่วัดตามเวลาที่กำหนดไว้ ถ้านิมนต์เลี้ยงพระเช้า เวลาที่พระท่านนัดมักจะ 07.00 น. ถ้า เลี้ยงเพล ก็จะประมาณ 10.00 น.
ส่วนฝ่ายจัดอาหาร นอกจากเตรียมสำรับถวายพระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็ต้องเตรียมอีก 1 ชุดสำหรับพระพุทธเช่นกัน
เมื่อพระมาถึงที่บ้านแล้ว ลำดับงาน จะเป็นดังนี้
- นิมนต์พระเข้าบ้านไปยังพื้นที่ ที่จัดเตรียมไว้
- เจ้าภาพ ถวายน้ำ แด่พระภิกษุสงฆ์
- เมื่อพระท่านพร้อมแล้ว เจ้าภาพ จุดเทียน ธูป (เทียน ซ้ายไปขวา ธูป ซ้ายไปขวา ตามลำดับ)
- กล่าวคำบูชา พระรัตนตรัย (อิมินา สักกาเรนะ…..)
- บทกราบนมัสการพระรัตนตรัย (อะระหัง สัมมา……)
- กล่าวคำ อาราธนาศีล 5 (มะยังถันเต วิสูง….)
- กล่าวพระไตรสรณาคมน์ (กล่าวตามพระ)
- สมาทานศีล (กล่าวตามพระ)
- อาราธนาพระปริต (วิปัตติปฏิพาหายะ…..)
- พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
- เมื่อถึงบทสวด “อเสวนา จ พาลานัง” เจ้าภาพจุดเทียนสำหรับทำน้ำพระพทธมนต์และประเคน
- เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จสิ้น กล่าวคำถวายข้าวพระพุทธ (อิมัง สูปะพยัญชนะ….)
- กล่าวคำถวายภัตตาหาร (อิมานิ มะยังภันเต…..)
- เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จสิ้นแล้ว เตรียมถวาย ดอกไม้-สังฆทาน-ซองปัจจัย
- กรวดน้ำ รับพร
- กราบนมัสการพระรัตนตรัย (อะระหัง สัมมา……)
- ส่งพระกลับวัด
- เชิญแขกรับประทานอาหารร่วมกัน
หมายเหตู
ถ้าท่านไม่มีมัคนายกนำพิธี พระท่านจะเป็นผู้นำสวดให้ในทุกบทสวด
ในการถวายภัตตาหาร นิยมถวายแบบล้อมวง หรือ ถวายแบบโตก ก็ได้เช่นกัน
หลังจากทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว ทางเจ้าภาพก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมดไปคืนวัด โดยทางวัดก็อาจจะมีตู้รับบริจาคค่าน้ำค่าไฟ เราก็บริจาคได้ตามกำลัง ตามศรัทธา
จะเห็นได้ว่าการเตรียมตัวทำบุญบ้านนั้น การก็ขั้นตอนในการเตรียมตัวอยู่พอสมควร แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าทำตามคำแนะนำของเรา งานทำบุญครั้งนี้ ก็จะผ่านไปได้อย่างราบรื่นแน่นอน
หากท่านใดมีข้อสงสัย ติดต่อสอบถามเพิ่มเติ่ม ติดต่อได้ที่ เพจ ของเรา
ยินดีให้คำแนะนำ ปรึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ
https://www.facebook.com/iriscateringpattaya